สัณฐานวิทยาภายนอกของเมล็ด


 สัณฐานวิทยาภายนอกของเมล็ด โดยทั่วไปเป็นดังนี้


     1. ไมโครไพล์ (micropyle) เป็นส่วนเดียวที่พัฒนามาจากออวุลโดยไม่ถูกเปลี่ยนชื่อเหมือนส่วนอื่นๆ อาจจะยังคงเห็นเป็นรูเล็กๆที่ปิดสนิทบนเปลือกเมล็ด  จะสังเกตเห็นได้ในเมล็ดถั่ว หรืออาจจะหายไปก็ได้ โดยมากมักจะเห็นร่วมกับขั้วเมล็ด (hilum) ไมโครไพล์นี้มีบทบาทมากในการดูดซึมน้ำของเมล็ด
   


2. ขั้วเมล็ด (hilum) เช่นในถั่ว หรือ ชั้นเนื้อเยื่อสีดำ (black layer) เช่นในข้าวโพด เป็นรอยแผลเป็นบนเมล็ด เกิดจากการแยกตัวออกของฐานก้านออวุล เมล็ดที่มีขั้วเมล็ดเกิดจากออวุลตั้งตรงและออวุลแนวนอน

3. สันขั้วเมล็ด (raphe) ในออวุลคว่ำที่โค้งกลับ 180 องศา เช่นลิลี่ ส่วนที่เหลือของก้านออวุลที่ติดกับออวุลยังคงเหลือร่องรอยอยู่เป็นสันตามยาวบนด้านหนึ่งของเมล็ด



พืชดอกส่วนมากที่มีเปลือกเมล็ดแห้ง จัดเป็นลักษณะที่ก้าวหน้าทางวิวัฒนาการ ในขณะที่ พืชดอกบางชนิดมีเปลือกเมล็ดเป็นเนื้อ ซึ่งพบได้ทั่วไปในพืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm) จัดเป็นลักษณะดึกดำบรรพ์ เช่นเปลือกเมล็ดที่กินได้ (sarcotesta) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชั้นผิวชั้นนอกของทับทิม ส่วนเมล็ดของพืชดอกบางชนิดมีรยางค์เป็นเนื้อ จัดเป็นลักษณะปานกลางทางวิวัฒนาการ รยางค์เหล่านี้เป็นอาหารของสัตว์บางชนิดได้ ดังนั้น จึงมีบทบาทช่วยในการช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ เช่น

1. ปุยหุ้มเมล็ด (aril) หรือรกหุ้มเมล็ด หรือเยื่อรก เป็นรยางค์หรือเนื้อที่เจริญมาจากก้านออวุล  และมักจะเจริญออกมาจากบริเวณฐานของออวุลมาห่อหุ้มเมล็ด พบมากในพืชวงศ์ส้าน (Dilleniaceae) เช่นส้าน มะตาด และรสสุคนธ์ นอกจากนี้ยังพบในจันทน์เทศ katemfe และยูว์ที่เป็นพืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm) เมล็ดจันทน์เทศมีปุยหุ้มเมล็ดสีแดงสดและจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลเมื่อแห้ง ปุยหุ้มเมล็ดที่แห้งแล้วนี้เรียกว่าดอกจันทน์หรือดอกจันทน์เทศ (mace) ส่วนเมล็ดที่แก่จัดมีสีน้ำตาลเข้มเรียกว่าลูกจันทน์ (nutmeg) ใช้ทั้งสองส่วนนี้เป็นเครื่องเทศและยาได้ ส่วนในปุยหุ้มเมล็ดของต้น katemfe ซึ่งเป็นพืชในอาฟริกาตะวันตกมีสาร talin ที่มีความหวานมากที่สุดในโลกถึงกว่า 6,000 เท่าของน้ำตาลทราย



2. จุกขั้ว (caruncle) เป็นส่วนที่เจริญออกมาของผนังออวุล  อยู่ใกล้ไมโครไพล์หรือขั้วเมล็ด มีหน้าที่ดูดความชื้นเพื่อช่วยในการงอก เช่นละหุ่ง




3. จุกขั้ว (strophiole) เป็นส่วนที่เจริญออกมาของสันขั้วเมล็ด (raphe) ที่มาจากออวุลคว่ำ เช่นถั่วลิมา





4. อีไลโอโซม (elaiosome) เป็นรยางค์ที่มีลักษณะเป็นมันเนื่องจากมีน้ำมันสะสมบนเมล็ดหรือผล มีบทบาทช่วยในการแพร่กระจายเมล็ด เนื่องจากมดกินเป็นอาหารได้ จึงคาบเมล็ดไปเก็บไว้ในรังที่อยู่ห่างออกไปจากต้นเดิม เช่นป๊อปปี้แคลิฟอร์เนีย

 วิทยาเนื้อเยื่อ (histology) ของเปลือกเมล็ด เปลือกเมล็ดอาจจะเกิดจาก
  1. ผนังออวุลทั้งสองชั้น  เช่นเมล็ดละหุ่ง และพืชวงศ์กะหล่ำ 
     2. ผนังออวุลชั้นในเท่านั้น เนื่องจากผนังออวุลชั้นนอกสูญสลายไป เช่นเมล็ดพืชวงศ์ธัญพืชหรือหญ้า
     3. ผนังออวุลชั้นนอกเท่านั้น เช่นเมล็ดพืชวงศ์ถั่ว และวงศ์แตง 
     ในการที่เนื้อเยื่อผนังออวุลจะมีส่วนมากหรือน้อยในการสร้างเปลือกเมล็ดนั้น มีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผนังออวุลมักจะมีการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้เสมอ คือ 1) ความหนาลดลงมากจนเท่าเปลือกเมล็ด นั่นคือ มีการสูญเสียชั้นเซลล์หลายชั้น และ 2) ชั้นเซลล์บางส่วนจัดตัวไม่เหมือนเดิม



ความแปรปรวนของเปลือกเมล็ด ที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้

     1. อาจเป็นเนื้อเยื่อสดหรือแห้งก็ได้     

2. จำนวนและความหนาของผนังออวุลมีหลากหลาย    

 3. มีความแตกต่างในระดับการเสื่อมสลายของผนังออวุลบางส่วน ในระหว่างการพัฒนาของเปลือกเมล็ด     

4. รูปแบบท่อลำเลียงของผนังออวุลที่มีกำเนิดมาจากระบบท่อลำเลียงของออวุล     

5. มีเซลล์ประเภทต่างๆในเปลือกเมล็ด     

6. อาจพบขน (trichome) ที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อชั้นผิวของผนังออวุลชั้นนอกในพืชที่อยู่ในบางหน่วยอนุกรมวิธาน (taxon)     ประโยชน์ของความแปรปรวนของเปลือกเมล็ดก็คือ นักวิชาการใช้ในการศึกษาการจัดหมวดหมู่ เนื่องจากว่าลักษณะเหล่านี้ค่อนข้างคงที่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น